วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ครุฑยุดนาค


ครุฑยุดนาค
เทพปกรณัมนับเป็นสิ่งที่บูรพชนรังสรรค์ขึ้นเพื่อพยายามอธิบายกำเนิดหรือที่มาของสรรพสิ่งบนโลกในครั้งที่วิทยาการยังไม่เจริญก้าวหน้า เทพปกรณัมหรือเทวตำนานนั้นพบได้ในหลายส่วนในดินแดนที่มีอารยะธรรมสั่งสมมาช้านานไม่ว่าจะเป็นเทพปกรณัมของกรีก อียิปต์ จีน ตลอดจนอินเดีย ซึ่งศาสนาพราหมณ์ในอินเดียนี่เองที่ยังอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทยมาแต่ครั้งโบราณกาลในอดีตนั้น พระมหากษัตริย์ไทยรับคติความเป็นเทวราชาหรือสมมติเทวราชมาจากขอมโดยถือว่าพระมหากษัตริย์คือปางหนึ่งของพระนารายณ์ที่อวตารมาจุติยังมนุษยโลกเพื่อบำราบยุคเข็ญ ความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ไม่เพียงแต่ยังอิทธิพลต่อราชสำนักเท่านั้น หากแต่ส่งผ่านธรรมเนียมและความเชื่อไปสู่บุคคลทั่วไปนับแต่อดีต เช่น ธรรมเนียมการไว้จุก โกนจุก จนถึงปัจจุบัน เช่น ความเชื่อในการตั้งศาลพระภูมิ คติความเชื่อเหล่านี้ยังคงแฝงตัวอยู่ท่ามกลางความเจริญของสังคมมิได้จางหายไปไหนแม้นกาลเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานดังเช่นหนึ่งในคติความเชื่อเรื่อง "ครุฑ"ในปัจจุบันครุฑเป็นเครื่องหมายตราแผ่นดินของประเทศไทย ทั้งยังสามารถพบเห็นได้ตามสิ่งต่างๆที่เนื่องในพระมหากษัตริย์ สถานที่ราชการ ธนาคาร องค์กรร้านค้าที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานตราครุฑ วัดวาอารามฯลฯ
ลักษณะของครุฑที่พบเห็นในปัจจุบันมักจะเป็นรูปครุฑพ่าห์ นารายณ์ทรงสุบรรณ(นารายณ์ทรงครุฑ) และครุฑยุดนาคซึ่งต่างสร้างขึ้นตามประวัติความเป็นมาจากเทพปกรณัมนั่นเองครุฑเป็นบุตรของฤาษีกัศยปะซึ่งเป็นหนึ่งในสัปตฤาษีหรือฤาษีเจ็ดตนกำเนิดจากดวงจิตของพระพรหม(พระผู้สร้างโลกตามคติพราหมณ์) เพื่อช่วยพระองค์ขยายเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตในโลก หนึ่งในบุตรของฤาษีกัศยปะซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีนั้นมีสุริยเทพ และพระอินทร์ เป็นอาทิ ฤาษีกัศยปะมีเทวีมากมายแต่มีอยู่สองศรีพี่น้องที่กัศยปมุนีโปรดปรานเป็นพิเศษ ครั้งหนึ่งกัศยปะฤาษีให้นางทั้งสองขอพรได้คนละข้อ โดยฝ่ายนางผู้น้องซึ่งมีนามว่ากัทรุได้ขอพรให้ตนมีลูกหลานมากมายและขอให้ลูกๆเหล่านั้นมีอิทธิฤทธิ์แปลงกายได้ ด้วยผลแห่งสัมฤทธิพรนางจึงให้กำเนิดลูกเป็นนาคหนึ่งพันตัวซึ่งเหล่านาคเลือกที่จะอาศัยอยู่ใต้บาดาล ข้างนางผู้พี่มีนามว่าวินตาขอพรให้ตนมีลูกเพียงสองก็พอ แต่ขอให้ลูกทั้งสองนั้นเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์มากเหนือผู้ใดรวมทั้งลูกๆทั้งหมดของนางกัทรุ กัศยปะฤาษีเห็นว่านางวินตาขอพรด้วยความริษยาเช่นนี้จะบังเกิดโทษต่อนางเองในกาลภายหน้าแต่ก็ต้องให้พรตามที่นางปรารถนาต่อมาไม่นาน นางวินตาได้ให้กำเนิดไข่สองฟองตามพรที่ขอไว้ แต่กาลเวลาผ่านไปกว่า 500 ปีก็ไม่มีวี่แววว่าไข่ทั้งสองจะฟักออก ด้วยจิตที่ร้อนรุ่มอยากจะทราบว่าสิ่งใดกันแน่ที่อยู่ภายใน นางจึงตัดสินใจแกะเปลือกไข่ฟองหนึ่งออกดูก็ปรากฏเป็นร่างของเด็กชายที่ครึ่งบนของลำตัวใหญ่โตแต่ส่วนล่างลงไปยังไม่ปรากฏแข้งขาแต่อย่างใดด้วยแรงโทสะที่รู้ว่าต้นเหตุแห่งทุพพลภาพแห่งตนเกิดจากมารดาที่ไร้ความมานะอดทน บุตรนั้น(นามว่าพระอรุณ) จึงสาปมารดาให้ตกเป็นทาสของนางกัทรุและเหล่านาค นางวินตาเมื่อได้ยินดังนั้นก็ตระหนกตกใจแทบสิ้นสมประดี พระอรุณเห็นเช่นนั้นก็เกิดเมตตาจริต แต่เมื่อเอ่ยคำสาปไปแล้วจะแก้ไขก็ไม่ได้จึงบอกแก่นางวินตาเพิ่มเติมว่า เมื่อใดก็ตามที่บุตรของนางซึ่งอยู่ในไข่อีกฟองถือกำเนิดขึ้น เมื่อนั้นบุตรดังกล่าวจะช่วยนางจากคำสาปเอง จากนั้นพระอรุณจึงถลาขึ้นฟ้าและต่อมากลายไปเป็นสารถีชักรถม้าให้แก่สุริยเทพ(พระอาทิตย์) ด้วยความที่พระอรุณมีร่างกายที่ใหญ่โตจึงไปบดบังแสงอาทิตย์ในยามเช้าและเย็นจนไม่สว่างจ้านักจึงเป็นที่มาของคำว่า "แสงอรุณ"
กาลเวลาผ่านไปสัมฤทธิผลแห่งคำสาปก็บังเกิดขึ้นโดยวันหนึ่งนาง กัทรุและนางวินตาถกเถียงกันด้วยเรื่องสีของม้าเทียมราชรถของพระอาทิตย์(บ้างว่าถกกันเรื่องม้าอุจเจศรวัสซึ่งเกิดจากการกวนเกษียรสมุทร) ว่ามีกายหรือขนสีอะไร ฝ่ายนางวินตาเชื่อว่าม้านั้นมีขนขาวบริสุทธิ์ แต่ฝ่ายนางกัทรุเชื่อว่ามีขนสีขาวแซมเทา การโต้เถียงกลับกลายไปสู่การท้าพนันให้ฝ่ายที่พ่ายแพ้ต้องตกเป็นทาสของฝ่ายที่ชนะนางกัทรุทราบดีว่าม้านั้นมีขนสีขาวแต่ด้วยมิจฉาทิฐิมานะจึงสั่งให้บรรดาลูกๆแปลงกายไปแซมเป็นขนม้า ดังนั้นจึงดูเสมือนหนึ่งม้ามีขนสีขาวแซมเทา ด้วยอุบายนี้ทำให้นางวินตาต้องตกเป็นทาสลงไปรับใช้ฝ่ายนาคอยู่ใต้บาดาลห้าร้อยปีต่อมา ไข่อีกฟองของนางวินตาจึงเริ่มปริออกให้ประจักษ์เห็นเป็นครึ่งคนครึ่งนกที่มีร่างกายสูงใหญ่เสียดฟ้า สำแดงฤทธาปาฏิหารย์บินไปยังยอดแห่งเขาพระสุเมรุบดบังแสงแห่งพระอาทิตย์จนผู้คนพากันสับสนพากันเข้าใจว่ากลางวันเป็นกลางคืน กัศยปะฤาษีผู้พ่อเห็นดังนั้นจึงไปหาครุฑและบอกกล่าวให้ไปช่วยมารดาซึ่งยังจำต้องเป็นทาสทนทุกข์จากเหล่านาคอยู่ใต้บาดาล แรกทีเดียวนั้นครุฑมีนามว่า "เวนไตร" ซึ่งแปลว่าเผ่าพงศ์ของนางวินตา เมื่อครุฑลงไปพบมารดาแล้วจึงแจ้งในเพทุบายของเหล่านาค ด้วยกตัญญุตาธรรม ครุฑจึงเจรจาต่อรองขอให้นาคปล่อยตัวมารดาของตน ฝ่ายนาครับคำโดยยินดีจะปล่อยนางวินตาหากครุฑนำน้ำอมฤตมาแลก
เมื่อทราบดังนั้นครุฑจึงถลาขึ้นสู่สวรรค์เพื่อไปนำน้ำอมฤต ระหว่างทางบังเกิดความหิวและพบเต่ากับช้างกำลังต่อสู้กัน เต่าตัวนั้นยาวได้ 8 โยชน์ ช้างนั้นยาวได้ 16 โยชน์ จึงใช้กรงเล็บจิกสัตว์ทั้งสองแล้วบินมาเกาะบนต้นไม้ใหญ่หมายจะกิน ความที่ทั้งสามคือ ครุฑ ช้าง และเต่ามีน้ำหนักมากทำให้กิ่งไม้หัก เผอิญบนกิ่งไม้นั้นมีพราหมณ์กำลังนั่งร่ายพระเวทอยู่ ครุฑเห็นดังนั้นจึงใช้จะงอยปากคาบกิ่งไม้แล้วค่อยๆวางกิ่งไม้ลงบนพื้นดินจนสามารถช่วยชีวิตพราหมณ์ไว้ได้ก่อนที่กลับไปจิกกินช้างและเต่า พราหมณ์พึงใจที่ครุฑช่วยชีวิตตนแม้อยู่ในความหิวจึงเรียกเวนไตยว่า "ครุฑ" หมายถึงผู้แบกรับภาระหนัก ครั้นบินไปถึงสวรรค์ ครุฑก็กระพือปีกพัดให้ฝุ่นตระหลบไปทั้งอากาศ แล้วเข้าต่อสู้กับเหล่าทวยเทพที่นำโดยสวรรคาธิบดีอินทรา(พระอินทร์) เหล่าเทพไม่สามารถต่อสู้กำลังของครุฑซึ่งได้รับพรให้มีอิทธิฤทธิ์มากเหนือผู้ใด แม้แต่สายฟ้าซึ่งเป็นเทพศาสตราของพระอินทร์ยังไม่สามารถทำอันตรายครุฑได้ แต่ด้วยความต้องการแสดงคารวะต่อพระอินทร์ผู้เป็นพี่ ครุฑจึงแสดงความเคารพโดยบันดาลให้ขนร่วงจากกายหนึ่งเส้นเพื่อให้เห็นว่าเทพศาสตราของพระอินทร์มีฤทธานุภาพพอที่จะสร้างอันตรายแก่ตนได้ ด้วยเหตุนี้ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "สุบรรณ" ซึ่งแปลว่า"ขนวิเศษ หรือผู้มีปีกอันงาม"เหล่าทวยเทพเมื่อไม่เห็นทางที่จะต้านฤทธิ์ได้จึงจำต้องเปิดทางให้ครุฑเข้าไปเอาน้ำอมฤต ก่อนถึงที่เก็บน้ำอมฤตมีกองเพลิงร้อนขนาดที่เผาดวงอาทิตย์ให้เป็นจุลได้ ครุฑจึงแปลงกายให้มีปากเก้าสิบเก้าสิบปากหรือ 8100 ปากแล้วจึงบินไปอมน้ำจากแม่น้ำ 8100 สายมาดับกองเพลิงนั้น กองเพลิงก็มอดไป ต่อเข้าไปด้านในมีจักรที่คมมากรอตัดร่างผู้ที่จะเข้าไปลักน้ำอมฤต ครุฑเห็นดังนั้นจึงแปลงกายให้เล็กเท่าธุลีบินลอดผ่านดุมจักรนั้นไปได้ ด้านในสุดยังมีนาคสองตนที่ดวงตาไม่กระพริบ มีพิษพ่นออกมาจากปากได้ หากนาคมองเห็นผู้ใดเข้ามาลักน้ำอมฤตย่อมพ่นพิษร้ายออกสังหารผู้นั้น ครุฑเห็นเช่นนี้จึงกระพือปีกให้เกิดฝุ่นตลบขึ้นในอากาศทำให้นาคมองไม่เห็นแล้วจิกนาคทั้งสองออกเป็นชิ้นๆข้างพระนารายณ์(พระวิษณุ) เห็นครุฑกำลังจะเข้าไปนำน้ำอมฤตออกมาได้จึงเข้าขัดขวาง ทั้งสองต่อสู้กันอย่างเป็นสามารถแต่ไม่มีผู้ใดแพ้หรือชนะจึงตกลงที่จะหย่าศึก โดยครุฑขอพรให้ตนเป็นอมตะโดยไม่ต้องดื่มน้ำอมฤทธิ์หนึ่ง ขอให้มีสิทธิ์จับนาคกินได้หนึ่ง (ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า"ครุฑยุดนาค") และขอพรให้อยู่สูงกว่าพระนารายณ์เป็นข้อสุดท้าย ในทางกลับกันพระนารายณ์ต้องการให้ครุฑเป็นเทพพาหนะของพระองค์ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการใช้ธงมหาราช (ธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ พื้นสีเหลืองตรงกลางเป็นรูปพระครุฑพ่าห์) ประดับอยู่บนยอดเสาธงเหนือที่ประทับ หน้ารถยนต์พระที่นั่ง เครื่องบินพระที่นั่ง ฯลฯ เพราะถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ พระนารายณ์ต้องพระประสงค์อยากทราบว่าเหตุใดครุฑจึงต้องขึ้นมาลักน้ำอมฤต ครุฑกราบทูลว่าทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพราะต้องการช่วยมารดาให้เป็นอิสระ เมื่อแจ้งดังนั้นพระนารายณ์จึงตรัสว่าน้ำอมฤตนี้ไม่สามารถเอาไปได้ ครุฑจึงออกอุบายขอนำน้ำอมฤตไปให้พวกนาคก่อนแล้วให้พระนารายณ์ตามมานำกลับไปครุฑนำน้ำอมฤตมาประพรมลงบนยอดหญ้าคา ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ถือว่าใบหญ้าคาเป็นสิ่งมงคลใช้ประพรมน้ำมนต์ ด้านเหล่านาคเห็นครุฑนำน้ำอมฤตมาได้จึงยอมปล่อยนางวินตาเป็นอิสระ ด้วยความรีบร้อนอยากลิ้มรสน้ำอมฤตบนใบหญ้าคา เหล่านาคไม่ทันได้สัมผัสน้ำอมฤตก็ถูกใบหญ้าคาบาดลิ้นเป็นเหตุให้นาคและงูมีลิ้นสองแฉกมาจนถึงปัจจุบัน ระหว่างนั้นเองพระนารายณ์จึงเสด็จลงมานำน้ำอมฤตกลับคืนสู่สรวงสวรรค์
ครุฑในตำนานสันสกฤตนั้นมีเพียงตนเดียวและไม่มีที่อยู่แน่นอนเพราะต้องย้ายตามพระนารายณ์ (พระวิษณุ) ต่างกับครุฑในคติพุทธศาสนาที่มีหลายตนทั้งตนใหญ่ตนเล็ก ตนที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่าพญาครุฑ และมีที่อยู่เป็นวิมานฉิมพลีหรือวิมานต้นงิ้วอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ ดังนั้นในพระที่นั่งหรือพระแท่นต่างๆจึงมักปรากฏรูปแกะสลักนาคอยู่ที่ชั้นฐานตามความเชื่อที่ว่านาคอาศัยอยู่ชั้นล่างสุดของเขาพระสุเมรุ ถัดมาเป็นชั้นของครุฑ ตามด้วยกุมภัณฑ์ ยักษ์ และจตุโลกบาล แบกเขาพระสุเมรุโดยมีพระมหากษัตริย์ประทับอยู่บนยอดของพระที่นั่งนั่นเองครุฑหรือเวนไตยนั้นมีชายาชื่ออุนนติหรือวินายกา มีโอรสชื่อสัมพาทีและสดายุ ครุฑมีชื่อเรียกหลายนาม เช่น กาศยปิ ผู้สืบพงศ์แห่งกัศยปะ ครุตมาน เจ้าแห่งนก รักตปักษ์ มีปีกแดง เศวตโรหิต มีสีขาวและแดง สุวรรณกาย มีกายสีทอง สิตามัน มีหน้าสีขาว คคเนศวร เจ้าแห่งอากาศ ขเคศวร ผู้เป็นใหญ่แห่งนก นาคนาศนะ ศัตรูแห่งนาค สุเรนทรชิต ผู้ชนะพระอินทร์ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น