วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คุณลักษณะของพระพุทธเจ้า (อีกครั้ง)

พระสรีระของพระพุทธเจ้า ประกอบไปด้วย พระมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ และ อนุพยัญชนะ 80 ประการพระมหาปุริสลักษณะ 32 ประการรวบรวมลักษณะของมหาปุริสลักษณะ 32 ประการที่ผู้ใดมีจะสามารถทำนายคติได้สองอย่างคือ จะได้เป็นพระมหาจักรพรรดิ หรือจะได้บรรลุเป็นศาสดาเอกของโลก ลักษณะทั้ง 32 ประการนี้เกิดจากการรักษาศีลและสร้างสมบารมีมาช้านานทั้งสิ้น ๑. พระบาทประดิษฐานเป็นอันดี สุปะติฎฐิตะปาโท เมื่อทรงเหยียบพระบาท ทรงจรดพื้นด้วยฝ่าพระบาททุกส่วนเสมอกัน เมื่อทรงยกพระบาทขึ้นก็เสมอกัน๒. ใต้พระบาททั้งสองมีลายธรรมจักร มงคล ๑๐๘ ประการ เหฎฐา ปาทะตะเลสุ จักกานิ๓. ส้นพระบาทยาว อายะตะปัณหิ พระบาทแบ่งออกเป็นสี่ส่วน ปลายพระบาทสองส่วน ลำพระชงฆ์ (แข้ง) ตั้งในส่วนที่สาม เหลือส้นพระบาทอีกหนึ่งส่วน และส้นพระบาทนั้นสีแดงงาม๔. นิ้วพระหัตถ์ นิ้วพระบาทยาวเรียว กลมงาม ทีฆังคุลี๕. พระวรกายตั้งตรงดังกายท้าวมหาพรหม พรหมุชุ คัตโต ไม่น้อมไปข้างหน้า หรือหงายไปข้างหลัง๖. พระมังสะ (เนื้อ) อูมในที่ ๗ แห่ง สัตตุสสะโท ได้แก่ หลังพระหัตถ์ทั้งสอง หลังพระบาททั้งสอง พระอังสา (บ่า) ทั้งสอง ลำพระศอ (คอ) มิได้เห็นเส้นปรากฏออกมาภายนอก๗. ฝ่าพระหัตถ์ ฝ่าพระบาทอ่อนนุ่ม มุทุตะละนะหัตถะปาโท๘. ฝ่าพระหัตถ์ ฝ่าพระบาทมีลายดังตาข่าย ชาละหัตถะปาโท นิ้วพระหัตถ์ทั้งสี่ เว้น พระอังคุฎฐะ (นิ้วหัวแม่มือ) นิ้วพระบาททั้งห้าเสมอกัน ชิดสนิทดี(บุพพชาติทรงอนุเคราะห์คนด้วยสังคหวัตถุสี่ คือ ทาน ปิยะวาจา อัตถจริยา สมานัตตา นิ้วทั้งสี่จึงยาวเท่ากัน)๙. หลังพระบาทนูนดุจสังข์คว่ำ อุสสังขะปาโท และข้อพระบาทกลอกกลับผันแปรอย่างคล่องขณะย่างพระบาท๑๐. พระโลมา (ขน) มีสีดำสนิท ขดเป็นทักษิณาวัฎ (เวียนขวา) ๓ รอบและมีปลายช้อนขึ้น๑๑. พระชงฆ์ (แข้ง) เรียวดังแข้งเนื้อทราย กลมกลึงงาม เอณิชังโฆ๑๒. พระฉวีวรรณ (ผิว) ละเอียด สุขุมมัจฉวี ธุลีละอองมิติดต้องพระวรกายได้ มลทินใดมาสัมผัสก็เลื่อนหลุดไปดุจน้ำกลิ้งตกจากใบบัว๑๓. พระฉวีวรรณ (ผิว) เหลืองงามดังทองคำ สุวัณณะวัณโณ๑๔. พระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก โกโสหิตะวัตถะคุโยหะ องค์กำเนิดเพศชายหดเร้นเข้าข้างใน๑๕. พระวรกายสง่างาม สมบูรณ์ สมส่วน ดังปริมณฑลแห่งต้นนิโครธ (ต้นไทร) นิโครธปริมัณฑโล ความสูงของพระวรกายเท่ากับวาของพระองค์๑๖. พระกรยาวจนใช้พระหัตถ์ลูบพระชานู (เข่า) โดยไม่ต้องน้อมพระวรกาย ปาณิตะเลหิ ชันนุกานิ ปริมะสะติ๑๗. พระวรกายส่วนหน้าล่ำพีบริบูรณ์ สง่างามดุจราชสีห์ สีหะปุพพะทะธะกาโย๑๘. พระปฤษฎางค์ (หลัง) เต็ม ปิตตันตะรังโส ตั้งแต่บั้นพระองค์ (เอว) ขึ้นไปถึงต้นพระศอ (คอ) พื้นพระมังสะ (เนื้อ) ปิดพระปฤษฎางค์เป็นอันดี มิได้เห็นข้อพระอัฐิท่ามกลางพระขนอง (ข้อกระดูกสันหลัง) ปรากฏออกมาภายนอก๑๙. พระศอกลมเสมอกัน สะมะวัฎฎักขันโธ๒๐. มีเส้นประสาทสำหรับนำรสอาหารดีเลิศ ระสัคคะสัคคี มีเส้นประสาทปลายข้างบนประชุมอยู่ที่พระศอสำหรับนำรสอาหารแผ่ซ่านสม่ำเสมอไปทั่วพระวรกาย๒๑. พระเนตรดำสนิท อะภินีละเนตโต มีการเห็นแจ่มใส๒๒. ดวงพระเนตรสดใสดังตาโค โคปะขุโม (บุพพชาติทรงทอดพระเนตรสัตว์ด้วยความเมตตา เอ็นดู)๒๓. พระเศียรกลมงาม พระพักตร์มีอุณหิสคือลักษณะเหมือนมีกรอบหน้า อุณหีสะสีโส๒๔. โลมา (ขน) มีขุมละเส้น เอเกกะโลโม๒๕. มีพระอุณาโลมระหว่างพระโขนง (คิ้ว) สีขาวอ่อนเหมือนปุยฝ้าย อุณณาโลมา ภมุกันตะเรชาตา๒๖. พระทนต์มี ๔๐ ซี่ จัตตาฬีสะทันโต เบื้องบน ๒๐ ซี่ เบื้องล่าง ๒๐ ซี่เสมอกัน๒๗. พระทนต์มิได้ห่าง สนิทกันดี อะวิระฬะทันโต๒๘. พระชิวหาอ่อน กว้าง ยาวกว่าชนทั้งปวง ปหูตะชิโวห๒๙. พระสุรเสียงไพเราะดุจเสียงท้าวมหาพรหม กระแสเสียงดุจเสียงนกการเวก พรหมัสสะโร กะระวิกะภาณี(บุพพชาติทรงเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ ส่อเสียด คำไม่จริง)๓๐. พระหนุ (คาง) ดุจคางราชสีห์ สีหะหะนุ๓๑. พระทนต์เรียงเรียบเสมอกัน สะมะทันโต๓๒. พระทาฐะ (เขี้ยว) ทั้ง ๔ ซี่ขาวบริสุทธิ์ รุ่งเรืองด้วยรัศมี สุสุกกะทาโฐอนุพยัญชนะ 80 ประการนอกเหนือจากมหาบุรุษลักษณะ 32 ประการแล้ว ยังมีลักษณะข้อปลีกย่อยของพระมหาบุรุษ นิยมเรียกกันว่า "อสีตยานุพยัญชนะ" หรือ "อนุพยัญชนะ" (ลักษณะเพิ่มเติมจำนวนแปดสิบอย่างที่พระโพธิสัตว์ต้องมี) อีก 80 ประการด้วยกัน คือ ๑. มีนิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทอันเหลืองงาม๒. นิ้วพระหัตถ์และนิ้วพระบาทเรียวออกไปโดยลำดับแต่ต้นจนปลาย๓. นิ้วพระหัตถ์แลนิ้วพระบาทกลมดุจนายช่างกลึงเป็นอันดี๔. พระนขาทั้ง ๒๐ มีสีอันแดง (พระนขา = เล็บ)๕. พระนขาทั้ง ๒๐ นั้น งอนงามช้อนขึ้นเบื้องบนมิได้ค้อมลงเบื้องต่ำ ดุจเล็บแห่งสามัญชนทั้งปวง๖. พระนขานั้นมีพรรณอันเกลี้ยงกลมสนิทมิได้เป็นริ้วรอย๗. ข้อพระหัตถ์และข้อพระบาทซ่อนอยู่ในพระมังสะมิได้สูงขึ้นปรากฏออกมาภายนอก๘. พระบาททั้งสองเสมอกันมิได้ย่อมใหญ่กว่ากันมาตรว่าเท่าเมล็ดงา๙. พระดำเนินงามดุจอาการเดินแหงกุญชรชาติ๑๐. พระดำเนินงามดุจสีหราช๑๑. พระดำเนินงามดุจดำเนินแห่งหงส์๑๒. พระดำเนินงามดุจอสุภราชดำเนิน๑๓. ขณะเมื่อยืนจะย่างดำเนินนั้น ยกพระบาทเบื้องขวาย่างไปก่อน พระกายเยื้องไปข้างเบื้องขวาก่อน๑๔. พระชานุมณฑลเกลี้ยงกลมงามบริบูรณ์ บ่มิได้เห็นอัฏฐิสะบ้าปรากฏออกมาภายนอก๑๕. มีบุรุษพยัญชนะบริบูรณ์ คือมิได้กิริยามารยาทคล้ายสตรี๑๖. พระนาภีมิได้บกพร่อง กลมงามมิได้วิกลในที่ใดที่หนึ่ง (พระนาภี = สะดือ)๑๗. พระอุทรมีสัณฐานอันลึก (พระอุทร = ท้อง)๑๘. ภายในพระอุทรมีรอยเวียนเป็นทักขิณาวัฏ๑๙. ลำพระเพลาทั้งสองงามดุจลำสุวรรณกัททลี (พระเพลา = ตัก, ขา สุวรรณกัททลี = ลำต้นกล้วยสีทอง)๒๐. งวงแห่งเอราวัณวัณเทพหัตถี (เอราวัณเทพยหัตถี = ช้าง ๓๓ เศียร เป็นพาหนะของพระอินทร์)๒๑. พระอังคาพยพใหญ่น้อยทั้งปวงจำแนกเป็นอันดี คืองามพร้อมทุกสิ่งหาที่ตำหนิบ่มิได้ (พระอังคาพยพ = องคาพยพ = ส่วนน้อยใหญ่แห่งร่างกาย,อวัยวะน้อยใหญ่)๒๒. พระมังสะที่ควรจะหนาก็หนา ที่ควรบางก็บางตามที่ทั่วทั้งพระสรีรกาย๒๓. พระมังสะมิได้หดหู่ในที่ใดที่หนี่ง๒๔. พระสรีกายทั้งปวงปราศจากต่อมและไฝปาน มูลแมลงวันมิได้มีในที่ใดที่หนึ่ง๒๕. พระกายงามบริสุทธิ์พร้อมสมกันโดยตามลำดับทั้งเบื้องบนแลเบื้องล่าง ๒๖. พระกายงามบริสุทธิ์สิ้นปราศจากมลทินทั้งปวง๒๗. ทรงพระกำลังมาก เสมอด้วยกำลังแห่งกุญชรชาติประมาณถึงพันโกฏิช้าง ถ้าจะประมาณด้วยกำลังบุรุษก็ได้ถึงแสนโกฏิบุรุษ (โกฏิ = สิบล้าน)๒๘. มีพระนาสิกอันสูง (พระนาสิก = จมูก)๒๙. สัณฐานพระนาสิกงามแฉล้ม ๓๐. มีพระโอษฐเบื้องบนเบื้องต่ำมิได้เข้าออกกว่ากัน เสมอเป็นอันดี มีพรรณแดงงามดุจสีผลตำลึงสุก (พระโอษฐ = ปาก, ริมฝีปาก)๓๑. พระทนต์บริสุทธิ์ปราศจากมูลมลทิน๓๒. พระทนต์ขาวดุจดังสีสังข์๓๓. พระทนต์เกลี้ยงสนิทมิได้เป็นริ้วรอย๓๔. พระอินทรีย์ทั้ง ๕ มีจักขุนทรีย์ เป็นอาทิงามบริสุทธิ์ทั้งสิ้น(พระอินทรีย์ = ร่างกายและจิตใจ)๓๕. พระเขี้ยวทั้ง 4 กลมบริบูรณ์๓๖. ดวงพระพักตร์มีสัณฐานขาวสวย๓๗. พระปรางค์ทั้งสองดูเปล่งงามเสมอกัน (พระปรางค์ = แก้ม)๔๐. ลายพระหัตถ์มีรอยอันตรง บ่มิได้ค้อมคด๔๑. สายพระหัตถ์มีรอยอันแดงรุ่งเรือง๔๒. รัศมีพระกายโอภาสเป็นปริมณฑลโดยรอบ๔๓.กระพุ้งพระปรางค์ทั้งสองเคร่งครัดบริบูรณ์๔๔. กระบอกพระเนตรกว้างแลยาวงามพอสมกัน๔๕. ดวงเนตรกอปรด้วยประสาททั้ง ๕ มีขาวเป็นอาทิผ่องใสบริสุทธิ์ทั้งสิ้น๔๖. ปลายเส้นพระโลมาทั้งหลายมิได้วอมิได้คด๔๗. พระชิวหามีสัณฐานอันงาม๔๘. พระชิวหาอ่อนบ่มิได้กระด้าง มีพรรณอันแดงเข้ม๔๙. พระกรรณทั้งสองมีสันฐานอันยาวดุจกลีบปทุมชาติ (พระกรรณ = หู)๕๐. ช่องพระกรรณมีสัณฐานอันกลมงาม๕๑. ระเบียบพระเส้นทั้งปวงนั้นสละสลวยบ่มิได้หดหู่ในที่อันใดอันหนึ่ง๕๒. แถวพระเส้นทั้งหลายซ่อนอยู่ในพระมังสะทั้งสิ้น บ่อมิได้เป็นคลื่นฟูขึ้นเหมือนสามัญชนทั้งปวง๕๓. พระเศียรมีสัณฐานอันงาม๕๔. ปริมณฑลพระนลาฏโดยกว้างยาวพอสมกัน๕๕. พระนลาฏมีสันฐานอันงาม๕๖. พระโขนงมีสันฐานอันงามดุจกันธนูอันก่งไว้๕๗. พระโลมาที่พระโขนงมีเส้นอันละเอียด๕๘. เส้นพระโลมาที่พระโขนงงอกขึ้นแล้วราบไปโดยลำดับ๕๙. พระโขนงนั้นใหญ่๖๐. พระโขนงนั้นยาวสุดหางพระเนตร๖๑. ผิวพระมังสะละเอียดทั่วทั้งพระวรกาย๖๒. พระสรีรกายรุ่งเรืองไปด้วยสิริ๖๓. กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ๖๗. พระโลมามีเส้นเสมอกันทั้งสิ้น๖๘. พระโลมามีเส้นละเอียดทั่วทั้งพระกาย๖๙. ลมอัสสะปัสสาสะลมหายพระทัยเข้าออกก็เดินละเอียด๗๐. พระโอษฐมีสันฐานอันงามดุจแย้ม๗๑. กลิ่นพระโอษฐหอมดุจกลิ่นอุบล (อุบล = ดอกบัว,บัว)๗๒. พระเกสาดำเป็นแสง (พระเกสา = ผม)๗๓. กลิ่นพระเกสาหอมฟุ้งขจรตลบ๗๔. พระเกสาหอมดุจกลิ่นโกมลบุบผชาติ๗๕. พระเกสามีสันฐานเส้นกลมสลวยทุกเส้น๗๖. พระเกสาดำสนิททุกเส้น๗๗. พระเกสากอปรด้วยเส้นอันละเอียด๗๘. เส้นพระเกสามิได้ยุ่งเหยิง๗๙. เส้นพระเกสาเวียนเป็นทักขิณาวัฏทุกๆ เส้น๘๐. วิจิตรไปด้วยระเบียบพระเกตุมาลา กล่าวคือถ่องแถวแหงพระรัศมีอันโชตนาการขึ้น ณ เบื้องบนพระอุตมังคสิโรตม์ (พระเกตุมาลา = รัศมีซึ่งเปล่งอยู่เหนือพระเศียรของพระพุทธเจ้า)แหล่งข้อมูลอ้างอิงพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๓ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ครุฑยุดนาค


ครุฑยุดนาค
เทพปกรณัมนับเป็นสิ่งที่บูรพชนรังสรรค์ขึ้นเพื่อพยายามอธิบายกำเนิดหรือที่มาของสรรพสิ่งบนโลกในครั้งที่วิทยาการยังไม่เจริญก้าวหน้า เทพปกรณัมหรือเทวตำนานนั้นพบได้ในหลายส่วนในดินแดนที่มีอารยะธรรมสั่งสมมาช้านานไม่ว่าจะเป็นเทพปกรณัมของกรีก อียิปต์ จีน ตลอดจนอินเดีย ซึ่งศาสนาพราหมณ์ในอินเดียนี่เองที่ยังอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทยมาแต่ครั้งโบราณกาลในอดีตนั้น พระมหากษัตริย์ไทยรับคติความเป็นเทวราชาหรือสมมติเทวราชมาจากขอมโดยถือว่าพระมหากษัตริย์คือปางหนึ่งของพระนารายณ์ที่อวตารมาจุติยังมนุษยโลกเพื่อบำราบยุคเข็ญ ความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ไม่เพียงแต่ยังอิทธิพลต่อราชสำนักเท่านั้น หากแต่ส่งผ่านธรรมเนียมและความเชื่อไปสู่บุคคลทั่วไปนับแต่อดีต เช่น ธรรมเนียมการไว้จุก โกนจุก จนถึงปัจจุบัน เช่น ความเชื่อในการตั้งศาลพระภูมิ คติความเชื่อเหล่านี้ยังคงแฝงตัวอยู่ท่ามกลางความเจริญของสังคมมิได้จางหายไปไหนแม้นกาลเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานดังเช่นหนึ่งในคติความเชื่อเรื่อง "ครุฑ"ในปัจจุบันครุฑเป็นเครื่องหมายตราแผ่นดินของประเทศไทย ทั้งยังสามารถพบเห็นได้ตามสิ่งต่างๆที่เนื่องในพระมหากษัตริย์ สถานที่ราชการ ธนาคาร องค์กรร้านค้าที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานตราครุฑ วัดวาอารามฯลฯ
ลักษณะของครุฑที่พบเห็นในปัจจุบันมักจะเป็นรูปครุฑพ่าห์ นารายณ์ทรงสุบรรณ(นารายณ์ทรงครุฑ) และครุฑยุดนาคซึ่งต่างสร้างขึ้นตามประวัติความเป็นมาจากเทพปกรณัมนั่นเองครุฑเป็นบุตรของฤาษีกัศยปะซึ่งเป็นหนึ่งในสัปตฤาษีหรือฤาษีเจ็ดตนกำเนิดจากดวงจิตของพระพรหม(พระผู้สร้างโลกตามคติพราหมณ์) เพื่อช่วยพระองค์ขยายเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตในโลก หนึ่งในบุตรของฤาษีกัศยปะซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีนั้นมีสุริยเทพ และพระอินทร์ เป็นอาทิ ฤาษีกัศยปะมีเทวีมากมายแต่มีอยู่สองศรีพี่น้องที่กัศยปมุนีโปรดปรานเป็นพิเศษ ครั้งหนึ่งกัศยปะฤาษีให้นางทั้งสองขอพรได้คนละข้อ โดยฝ่ายนางผู้น้องซึ่งมีนามว่ากัทรุได้ขอพรให้ตนมีลูกหลานมากมายและขอให้ลูกๆเหล่านั้นมีอิทธิฤทธิ์แปลงกายได้ ด้วยผลแห่งสัมฤทธิพรนางจึงให้กำเนิดลูกเป็นนาคหนึ่งพันตัวซึ่งเหล่านาคเลือกที่จะอาศัยอยู่ใต้บาดาล ข้างนางผู้พี่มีนามว่าวินตาขอพรให้ตนมีลูกเพียงสองก็พอ แต่ขอให้ลูกทั้งสองนั้นเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์มากเหนือผู้ใดรวมทั้งลูกๆทั้งหมดของนางกัทรุ กัศยปะฤาษีเห็นว่านางวินตาขอพรด้วยความริษยาเช่นนี้จะบังเกิดโทษต่อนางเองในกาลภายหน้าแต่ก็ต้องให้พรตามที่นางปรารถนาต่อมาไม่นาน นางวินตาได้ให้กำเนิดไข่สองฟองตามพรที่ขอไว้ แต่กาลเวลาผ่านไปกว่า 500 ปีก็ไม่มีวี่แววว่าไข่ทั้งสองจะฟักออก ด้วยจิตที่ร้อนรุ่มอยากจะทราบว่าสิ่งใดกันแน่ที่อยู่ภายใน นางจึงตัดสินใจแกะเปลือกไข่ฟองหนึ่งออกดูก็ปรากฏเป็นร่างของเด็กชายที่ครึ่งบนของลำตัวใหญ่โตแต่ส่วนล่างลงไปยังไม่ปรากฏแข้งขาแต่อย่างใดด้วยแรงโทสะที่รู้ว่าต้นเหตุแห่งทุพพลภาพแห่งตนเกิดจากมารดาที่ไร้ความมานะอดทน บุตรนั้น(นามว่าพระอรุณ) จึงสาปมารดาให้ตกเป็นทาสของนางกัทรุและเหล่านาค นางวินตาเมื่อได้ยินดังนั้นก็ตระหนกตกใจแทบสิ้นสมประดี พระอรุณเห็นเช่นนั้นก็เกิดเมตตาจริต แต่เมื่อเอ่ยคำสาปไปแล้วจะแก้ไขก็ไม่ได้จึงบอกแก่นางวินตาเพิ่มเติมว่า เมื่อใดก็ตามที่บุตรของนางซึ่งอยู่ในไข่อีกฟองถือกำเนิดขึ้น เมื่อนั้นบุตรดังกล่าวจะช่วยนางจากคำสาปเอง จากนั้นพระอรุณจึงถลาขึ้นฟ้าและต่อมากลายไปเป็นสารถีชักรถม้าให้แก่สุริยเทพ(พระอาทิตย์) ด้วยความที่พระอรุณมีร่างกายที่ใหญ่โตจึงไปบดบังแสงอาทิตย์ในยามเช้าและเย็นจนไม่สว่างจ้านักจึงเป็นที่มาของคำว่า "แสงอรุณ"
กาลเวลาผ่านไปสัมฤทธิผลแห่งคำสาปก็บังเกิดขึ้นโดยวันหนึ่งนาง กัทรุและนางวินตาถกเถียงกันด้วยเรื่องสีของม้าเทียมราชรถของพระอาทิตย์(บ้างว่าถกกันเรื่องม้าอุจเจศรวัสซึ่งเกิดจากการกวนเกษียรสมุทร) ว่ามีกายหรือขนสีอะไร ฝ่ายนางวินตาเชื่อว่าม้านั้นมีขนขาวบริสุทธิ์ แต่ฝ่ายนางกัทรุเชื่อว่ามีขนสีขาวแซมเทา การโต้เถียงกลับกลายไปสู่การท้าพนันให้ฝ่ายที่พ่ายแพ้ต้องตกเป็นทาสของฝ่ายที่ชนะนางกัทรุทราบดีว่าม้านั้นมีขนสีขาวแต่ด้วยมิจฉาทิฐิมานะจึงสั่งให้บรรดาลูกๆแปลงกายไปแซมเป็นขนม้า ดังนั้นจึงดูเสมือนหนึ่งม้ามีขนสีขาวแซมเทา ด้วยอุบายนี้ทำให้นางวินตาต้องตกเป็นทาสลงไปรับใช้ฝ่ายนาคอยู่ใต้บาดาลห้าร้อยปีต่อมา ไข่อีกฟองของนางวินตาจึงเริ่มปริออกให้ประจักษ์เห็นเป็นครึ่งคนครึ่งนกที่มีร่างกายสูงใหญ่เสียดฟ้า สำแดงฤทธาปาฏิหารย์บินไปยังยอดแห่งเขาพระสุเมรุบดบังแสงแห่งพระอาทิตย์จนผู้คนพากันสับสนพากันเข้าใจว่ากลางวันเป็นกลางคืน กัศยปะฤาษีผู้พ่อเห็นดังนั้นจึงไปหาครุฑและบอกกล่าวให้ไปช่วยมารดาซึ่งยังจำต้องเป็นทาสทนทุกข์จากเหล่านาคอยู่ใต้บาดาล แรกทีเดียวนั้นครุฑมีนามว่า "เวนไตร" ซึ่งแปลว่าเผ่าพงศ์ของนางวินตา เมื่อครุฑลงไปพบมารดาแล้วจึงแจ้งในเพทุบายของเหล่านาค ด้วยกตัญญุตาธรรม ครุฑจึงเจรจาต่อรองขอให้นาคปล่อยตัวมารดาของตน ฝ่ายนาครับคำโดยยินดีจะปล่อยนางวินตาหากครุฑนำน้ำอมฤตมาแลก
เมื่อทราบดังนั้นครุฑจึงถลาขึ้นสู่สวรรค์เพื่อไปนำน้ำอมฤต ระหว่างทางบังเกิดความหิวและพบเต่ากับช้างกำลังต่อสู้กัน เต่าตัวนั้นยาวได้ 8 โยชน์ ช้างนั้นยาวได้ 16 โยชน์ จึงใช้กรงเล็บจิกสัตว์ทั้งสองแล้วบินมาเกาะบนต้นไม้ใหญ่หมายจะกิน ความที่ทั้งสามคือ ครุฑ ช้าง และเต่ามีน้ำหนักมากทำให้กิ่งไม้หัก เผอิญบนกิ่งไม้นั้นมีพราหมณ์กำลังนั่งร่ายพระเวทอยู่ ครุฑเห็นดังนั้นจึงใช้จะงอยปากคาบกิ่งไม้แล้วค่อยๆวางกิ่งไม้ลงบนพื้นดินจนสามารถช่วยชีวิตพราหมณ์ไว้ได้ก่อนที่กลับไปจิกกินช้างและเต่า พราหมณ์พึงใจที่ครุฑช่วยชีวิตตนแม้อยู่ในความหิวจึงเรียกเวนไตยว่า "ครุฑ" หมายถึงผู้แบกรับภาระหนัก ครั้นบินไปถึงสวรรค์ ครุฑก็กระพือปีกพัดให้ฝุ่นตระหลบไปทั้งอากาศ แล้วเข้าต่อสู้กับเหล่าทวยเทพที่นำโดยสวรรคาธิบดีอินทรา(พระอินทร์) เหล่าเทพไม่สามารถต่อสู้กำลังของครุฑซึ่งได้รับพรให้มีอิทธิฤทธิ์มากเหนือผู้ใด แม้แต่สายฟ้าซึ่งเป็นเทพศาสตราของพระอินทร์ยังไม่สามารถทำอันตรายครุฑได้ แต่ด้วยความต้องการแสดงคารวะต่อพระอินทร์ผู้เป็นพี่ ครุฑจึงแสดงความเคารพโดยบันดาลให้ขนร่วงจากกายหนึ่งเส้นเพื่อให้เห็นว่าเทพศาสตราของพระอินทร์มีฤทธานุภาพพอที่จะสร้างอันตรายแก่ตนได้ ด้วยเหตุนี้ครุฑจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า "สุบรรณ" ซึ่งแปลว่า"ขนวิเศษ หรือผู้มีปีกอันงาม"เหล่าทวยเทพเมื่อไม่เห็นทางที่จะต้านฤทธิ์ได้จึงจำต้องเปิดทางให้ครุฑเข้าไปเอาน้ำอมฤต ก่อนถึงที่เก็บน้ำอมฤตมีกองเพลิงร้อนขนาดที่เผาดวงอาทิตย์ให้เป็นจุลได้ ครุฑจึงแปลงกายให้มีปากเก้าสิบเก้าสิบปากหรือ 8100 ปากแล้วจึงบินไปอมน้ำจากแม่น้ำ 8100 สายมาดับกองเพลิงนั้น กองเพลิงก็มอดไป ต่อเข้าไปด้านในมีจักรที่คมมากรอตัดร่างผู้ที่จะเข้าไปลักน้ำอมฤต ครุฑเห็นดังนั้นจึงแปลงกายให้เล็กเท่าธุลีบินลอดผ่านดุมจักรนั้นไปได้ ด้านในสุดยังมีนาคสองตนที่ดวงตาไม่กระพริบ มีพิษพ่นออกมาจากปากได้ หากนาคมองเห็นผู้ใดเข้ามาลักน้ำอมฤตย่อมพ่นพิษร้ายออกสังหารผู้นั้น ครุฑเห็นเช่นนี้จึงกระพือปีกให้เกิดฝุ่นตลบขึ้นในอากาศทำให้นาคมองไม่เห็นแล้วจิกนาคทั้งสองออกเป็นชิ้นๆข้างพระนารายณ์(พระวิษณุ) เห็นครุฑกำลังจะเข้าไปนำน้ำอมฤตออกมาได้จึงเข้าขัดขวาง ทั้งสองต่อสู้กันอย่างเป็นสามารถแต่ไม่มีผู้ใดแพ้หรือชนะจึงตกลงที่จะหย่าศึก โดยครุฑขอพรให้ตนเป็นอมตะโดยไม่ต้องดื่มน้ำอมฤทธิ์หนึ่ง ขอให้มีสิทธิ์จับนาคกินได้หนึ่ง (ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า"ครุฑยุดนาค") และขอพรให้อยู่สูงกว่าพระนารายณ์เป็นข้อสุดท้าย ในทางกลับกันพระนารายณ์ต้องการให้ครุฑเป็นเทพพาหนะของพระองค์ ดังนั้นจึงเป็นที่มาของธรรมเนียมการใช้ธงมหาราช (ธงประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ พื้นสีเหลืองตรงกลางเป็นรูปพระครุฑพ่าห์) ประดับอยู่บนยอดเสาธงเหนือที่ประทับ หน้ารถยนต์พระที่นั่ง เครื่องบินพระที่นั่ง ฯลฯ เพราะถือว่าพระมหากษัตริย์คืออวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ พระนารายณ์ต้องพระประสงค์อยากทราบว่าเหตุใดครุฑจึงต้องขึ้นมาลักน้ำอมฤต ครุฑกราบทูลว่าทั้งหลายทั้งปวงเป็นเพราะต้องการช่วยมารดาให้เป็นอิสระ เมื่อแจ้งดังนั้นพระนารายณ์จึงตรัสว่าน้ำอมฤตนี้ไม่สามารถเอาไปได้ ครุฑจึงออกอุบายขอนำน้ำอมฤตไปให้พวกนาคก่อนแล้วให้พระนารายณ์ตามมานำกลับไปครุฑนำน้ำอมฤตมาประพรมลงบนยอดหญ้าคา ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้ถือว่าใบหญ้าคาเป็นสิ่งมงคลใช้ประพรมน้ำมนต์ ด้านเหล่านาคเห็นครุฑนำน้ำอมฤตมาได้จึงยอมปล่อยนางวินตาเป็นอิสระ ด้วยความรีบร้อนอยากลิ้มรสน้ำอมฤตบนใบหญ้าคา เหล่านาคไม่ทันได้สัมผัสน้ำอมฤตก็ถูกใบหญ้าคาบาดลิ้นเป็นเหตุให้นาคและงูมีลิ้นสองแฉกมาจนถึงปัจจุบัน ระหว่างนั้นเองพระนารายณ์จึงเสด็จลงมานำน้ำอมฤตกลับคืนสู่สรวงสวรรค์
ครุฑในตำนานสันสกฤตนั้นมีเพียงตนเดียวและไม่มีที่อยู่แน่นอนเพราะต้องย้ายตามพระนารายณ์ (พระวิษณุ) ต่างกับครุฑในคติพุทธศาสนาที่มีหลายตนทั้งตนใหญ่ตนเล็ก ตนที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่าพญาครุฑ และมีที่อยู่เป็นวิมานฉิมพลีหรือวิมานต้นงิ้วอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ ดังนั้นในพระที่นั่งหรือพระแท่นต่างๆจึงมักปรากฏรูปแกะสลักนาคอยู่ที่ชั้นฐานตามความเชื่อที่ว่านาคอาศัยอยู่ชั้นล่างสุดของเขาพระสุเมรุ ถัดมาเป็นชั้นของครุฑ ตามด้วยกุมภัณฑ์ ยักษ์ และจตุโลกบาล แบกเขาพระสุเมรุโดยมีพระมหากษัตริย์ประทับอยู่บนยอดของพระที่นั่งนั่นเองครุฑหรือเวนไตยนั้นมีชายาชื่ออุนนติหรือวินายกา มีโอรสชื่อสัมพาทีและสดายุ ครุฑมีชื่อเรียกหลายนาม เช่น กาศยปิ ผู้สืบพงศ์แห่งกัศยปะ ครุตมาน เจ้าแห่งนก รักตปักษ์ มีปีกแดง เศวตโรหิต มีสีขาวและแดง สุวรรณกาย มีกายสีทอง สิตามัน มีหน้าสีขาว คคเนศวร เจ้าแห่งอากาศ ขเคศวร ผู้เป็นใหญ่แห่งนก นาคนาศนะ ศัตรูแห่งนาค สุเรนทรชิต ผู้ชนะพระอินทร์ เป็นต้น

สัมพาที และ สดายุ


สัมพาทีและสดายุ
ครุฑมีโอรสเป็นนกสองตน ผู้พี่มีนามว่าสัมพาทีส่วนผู้น้องมีนามว่าสดายุ(ชฎายุก็เรียก) นกทั้งสองมีรูปร่างลักษณะคล้ายกันแต่กายของสัมพาทีมีสีแดงขณะที่สดายุมีกายสีเขียวสัมพาทีเป็นนกที่มีกำลังมากสามารถบินข้ามมหาสมุทรได้โดยไม่ต้องหยุดพัก ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นนกแห่งความเสียสละอันเกิดจากตำนานในครั้งอดีตเมื่อนกทั้งสองอาศัยอยู่ยังเขาอัสกรรณ สดายุเคยบินไปจะจิกกินพระอาทิตย์เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นผลไม้ ยังความรำคาญให้แก่พระอาทิตย์จนแผ่รัศมีหมายจะแผดเผาสดายุให้เป็นจุล ขณะนั้นเองที่สัมพาทีเห็นเหตุการณ์ทั้งหมดเข้าจึงตรงไปสยายปีกของตนป้องร่างน้องชายเอาไว้จนขนของสัมพาทีร่วงทั้งหมดเพราะความร้อนจากแสงอาทิตย์ฝ่ายสุริยเทพเห็นดังนั้นก็ยิ่งบันดาลโทสะจึงสาปให้สัมพาทีไม่มีขนตลอดไปจนกว่าวันใดที่ทหารของพระรามกลับจากการนำแหวนไปถวายนางสีดาและมาพักยังถ้ำนี้แล้วโห่ขึ้นสามลาจึงค่อยให้ขนงอกขึ้นมาอีกครั้ง
--------------------------------------------------------
นกสดายุหรือชฎายุนั้นมีบทบาทอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์โดยในตำนานกล่าวว่าสดายุเป็นเพื่อนกับพระชนกของพระราม วันหนึ่งสดายุเห็นทศกัณฐ์กำลังลักนางสีดาจึงเข้าต่อตีจนทศกัณฐ์ไม่อาจต้านทานฤทธิ์ได้ สดายุบังเอิญเผยความลับไปว่าทั้งสามโลกนี้ตนไม่หวั่นเกรงสิ่งใดๆยกเว้นพระศิวะ พระวิษณุ และธำมรงค์ที่สีดาสวมใส่อยู่ทศกัณฐ์ครั้นแจ้งดังนั้นจึงถอดธำมรงค์ของนางสีดาออกโดยไวแล้วขว้างไปโดนปีกนกสดายุหักลงจนบินต่อไม่ได้ ต่อมาพระรามออกตามหานางสีดาผ่านมาพบนกสดายุจึงได้ความว่ากรุงลงกาที่ทศกัณฐ์ลักนางสีดาไปนั้นอยู่ ณ แห่งใด

ตำนานการกวนเกษียรสมุทร

กล่าวถึงสรวงสวรรค์นั้นมีเหล่านางฟ้าที่งดงามอยู่เกินกว่าจะคณานับได้แต่นางฟ้าที่ได้ชื่อว่างามที่สุดมีนามว่าอุรวศีรองลงมาคือนางเมนะกา วันหนึ่งนางเมนะกานำพวงมาลัยไปถวายให้แก่ฤาษีทุรวาส ต่อมาพระอินทร์ได้ทรงเทพพาหนะคือช้างไอราวัตหรือช้างเอราวัณผ่านมา ฤาษีทุรวาสมีศรัทธาปรารถนาจะถวายพวงมาลัยที่ได้มาแต่นางเมวะกานั้นแด่พระอินทร์ผู้เป็นสวรรคาธิบดีปกครองสรวงสวรรค์ พระอินทร์รับพวงมาลัยแล้วจึงเอามาแขวนไว้ที่งวงช้าง พลันช้างเอราวัณไม่พึงใจกลิ่นจากพวงดอกไม้นั้นก็แกว่งงวงจนมาลัยตกลงพื้นยังเหตุให้ฤาษีทุรวาสบังเกิดโทสะจึงกล่าวแก่พระอินทร์ว่าพวงมาลัยนั้นเป็นที่สถิตแห่งมงคลทั้งปวงจึงควรได้รับการปฏิบัติดูแลดีกว่านี้ ด้วยเพลิงพิโรธนั้นจึงสาปให้เหล่าเทวดาทั้งหลายเสื่อมด้วยอิทธิฤทธิ์และอำนาจทั้งปวงข้างฝ่ายอสูรนั้นมีเรื่องบาดหมางกับเทวดามากมายมาแต่เดิม หนึ่งในนั้นคือความพยายามที่จะช่วงชิงสรวงสวรรค์มาจากหมู่เทพ ฝ่ายอสูรบ้างก็มีอาวุธวิเศษ บ้างก็มีพรวิเศษซึ่งได้รับประทานมาจากมหาเทพทั้งสาม(พระศิวะ พระวิษณุ พระพรหม) ซึ่งหากใครบำเพ็ญภาวนาถึงพระองค์จนสมควรแก่กาลแล้ว พระองค์จะร้อนรนจนต้องมาปรากฏต่อหน้าเพื่อประทานในสิ่งที่ผู้นั้นปรารถนาซึ่งบ่อยครั้งพรวิเศษเหล่านี้จะนำมาซึ่งปัญหาในภายหลังให้พระนารายณ์(พระผู้ดูแลสันติสุขของโลก) ต้องคอยตามบำราบอยู่ร่ำไปเมื่ออสูรได้รับอาวุธและพรวิเศษจากมหาเทพแล้วก็มีอิทธิฤทธิ์เพิ่มพูนขึ้น อีกทั้งรูปร่างกายาก็แข็งแรงกว่าเทวดาที่มีรูปพรรณสัณฐานอ่อนช้อยซ้ำยังโดนคำสาปจากฤาษีทุรวาสให้มีฤทธิรุธเสื่อมถอยลงทำให้เหล่าเทวดาบาดเจ็บล้มตายไปเป็นอันมากในการต่อสู้ วันหนึ่งพระอินทร์นำความขึ้นทูลปรึกษาพระนารายณ์เรื่องเหล่าอสูรที่นับวันจะทวีฤทธานุภาพจนยากจะรับมือ พระนารายณ์สดับดังนั้นจึงแนะนำให้พระอินทร์ตั้งพิธีกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤตซึ่งหากเทวดาได้ดื่มแล้วจะทำให้เป็นอมตะและเพิ่มพูนฤทธาขึ้นมาก เมื่อถึงครั้งนั้นต่อให้เหล่ายักษ์มีกำลังเท่าใดก็ไม่สามารถทำอันตรายปวงเทพได้อันเกษียรสมุทรนั้นตั้งอยู่ในทิศตะวันออกของจักรวาลมีน้ำสีขาวคือเกษียรแปลว่าน้ำนมไหลเต็มอยู่ตลอดปี การจะกวนเกษียรสมุทรเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำอมฤตเป็นการใหญ่ที่หมู่เทวดาเพียงลำพังจะกระทำกันเองไม่ได้เพราะมีเรี่ยวแรงน้อย ดังนั้นจึงหลอกล่อเหล่าอสูรโดยสัญญาว่าเมื่อได้น้ำอมฤตแล้วก็จะแบ่งกันดื่มเพื่อความเป็นอมตะตลอดไป เหล่าอสูรได้ฟังดังนั้นก็กระหยิ่มยิ้มย่องตกลงสมานฉันท์ร่วมแรงร่วมใจในพิธีครั้งนี้โดยเริ่มจากช่วยเหล่าเทวดาถอนเขามันทระซึ่งมีความสูงพ้นพื้นดิน 11000 โยชน์ และหยั่งฐานรากอยู่ใต้ดินอีก 11000 โยชน์(หลังๆมักสับสนกันว่าใช้เขาพระสุเมรุ) เพื่อใช้เป็นไม้กวนเกษียรสมุทร ใช้พญานาควาสุกรีผู้เป็นพี่ของพญาเศษะ(พญาอนันตนาคราชหรือพญานาคพันเศียรที่เป็นแท่นบรรทมของพระนารายณ์เวลาประทับอยู่เหนือเกษียรสมุทรหรือนารายณ์บรรทมสินธุ์) ต่างเชือกพันกับเขามัทระทั้งยังโปรยสมุนไพรอันเป็นทิพย์ลงในเกษียรสมุทรอีกด้วย ฝ่ายเทวดารู้ว่าเมื่อพญาวาสุกรีถูกชักลากไปมาจนเวียนหัวจะสำรอกพิษออกทางปากจึงออกอุบายเยินยอเหล่าอสูรว่าเป็นผู้มีกำลังมากสมควรได้รับเกียรติให้ถือฝั่งหัวพญานาคส่วนเหล่าเทพผู้มีฤทธิ์น้อยจะขอถือฝั่งหางเอง ข้างฝ่ายอสูรได้ยินคำเยินยอเช่นนั้นก็หลงเข้าใจว่าปวงเทวาให้เกียรติจึงรับคำจะถือฝั่งเศียรพญานาคเองพระนารายณ์ในฐานะองค์ต้นดำริการกวนเกษียรสมุทรมีส่วนช่วยให้การครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีเป็นอันมาก โดยพระองค์ประทับนั่งเหนือเขามันทระที่ใช้ต่างไม้พาย แล้วแบ่งภาคหนึ่งลงช่วยเหล่าเทพชักพญาวาสุกรีเนื่องจากลำพังหมู่เทวะเองมีกำลังน้อย พระนารายณ์ยังทรงแจ้งด้วยทิพยญาณว่าเกษียรสมุทรเมื่อถูกเขามันทระกวนไปเรื่อยๆจะทะลุแล้วน้ำจะไหลไปท่วมมนุษยโลกพระองค์จึงแบ่งภาคเป็นเต่า(กุรมะ) ใช้กระดองรองรับเกษียรสมุทรไว้จึงเป็นที่มาของกุรมะวตารอันเป็นปางที่สามในนารายณ์สิบปาง ระหว่างที่กวนเกษียรสมุทรอยู่นั้น พญาวาสุกรีถูกดึงไปมาก็เกิดเวียนหัวจึงสำรอกพิษร้ายซึ่งกระเด็นไปโดนเหล่าอสูรเป็นที่ปวดแสบปวดร้อนจึงเป็นเหตุให้เหล่าอสูรมีหน้าตาผิวพรรณตะปุ่มตะป่ำนับแต่นั้นเป็นต้นมา
พิธีดำเนินไปได้พันปีเกษียรสมุทรพลันบังเกิดหม้อบรรจุพิษ "หะราหระ" ลอยออกมาเป็นลำดับแรก อันหาลาหละนั้นเป็นพิษร้ายแรง หากตกลงยังมนุษยโลกก็จะบังเกิดเป็นเพลิงกรดเผาโลกให้เป็นจุลไปได้ พระศิวะมหาเทพทรงทราบด้วยทิพยญาณว่าพิษร้ายนี้ไม่มีใครจะกำจัดลงได้เว้นแต่พระองค์เอง เมื่อดำริดังนั้นแล้วจึงทรงดื่มพิษหาลาหละนั้น ฝ่ายพระแม่ปรวาตีเห็นพระสวามีกลืนพิษร้ายจึงได้กดพระศอพระศิวะไว้เพื่อไม่ได้พิษไหลลงสู่พระอุทรได้ ด้วยความร้ายกาจแห่งพิษนั้นยังผลให้พระศอพระศิวะเป็นสีดำพระองค์จึงมีอีกพระนามหนึ่งว่า นิลกัณฐ์ หรือผู้มีคอสีนิลนับแต่นั้นเป็นต้นมาสิ่งวิเศษลำดับที่สองที่ลอยขึ้นมาคือวัว "กามเธนุ" แปลว่าแม่โคอันพึงปรารถนา รู้จักกันในอีกนามหนึ่งว่าโคสุรภีซึ่งต่อมาให้กำเนิดวัวอุศุภราชหรือนันทิเกศวรอันเป็นเทพพาหนะทรงของพระอิศวร โดยมีเทวดานามเวตาลเป็นพ่อ (บางตำนานว่ากัศยปมุนีปรารถนาจะนำโคกามเธนุไปเป็นพาหนะแต่ติดว่าเป็นโคเพศเมียจึงเนรมิตตนเป็นพ่อโคเข้าผสมด้วยโคกามเธนุจนเกิดลูกโคสีขาวบริสุทธิ์ตั้งชื่อให้ว่า อุศุภราช มีลักษณะงดงามตามตำราจึงได้นำไปถวายพระอิศวรเพื่อเป็นเทพพาหนะ บางตำรากล่าวว่านนทิเกศวรแท้จริงแล้วคือเทพบุตรนามว่า นนทิ เป็นผู้เฝ้าสัตว์ในเขาไกรลาสและหัวหน้าแห่งปวงศิวะสาวก เมื่อพระศิวะปรารถนาจะไปยังที่ใด นนทิก็จะแปลงกายให้เป็นโคเผือกเพื่อเป็นเทพพาหนะ) อันแม่วัวกามเธนุนั้นเป็นโควิเศษสามารถเนรมิตสิ่งต่างๆตามที่เจ้าของปรารถนาได้สิ่งที่สามคือม้าสีขาวนามว่า "อุจเจศรวัส" ซึ่งต่อมาพระอาทิตย์นำไปเทียมราชรถและเป็นต้นเหตุของการพนันระหว่างนางวินตาและนางกัทรุในตำนานการเกิดของครุฑสิ่งที่สี่คือช้างไอราวัตหรือช้างเอราวัณซึ่งเป็นช้างผือกสีขาวมีสามเศียรอันเป็นเทพพาหนะของพระอินทร์สี่งที่ห้าคือเกาสตุภมณีซึ่งเป็นเพชรล้ำค่าที่สุดในสามโลก ต่อมาพระนารายณ์นำไปประดับพระอุระสิ่งที่หกคือต้นกัลปพฤกษ์ซึ่งเป็นต้นไม้ทิพย์สามารถอำนวยความสำเร็จให้แก่ผู้ขอพรได้สิ่งที่เจ็ดคือพระแม่ลักษณมีซึ่งเป็นเทพแห่งโชคลาภเงินทอง ต่อมาพระนารายณ์รับไปเป็นพระชายาสิ่งที่แปดคือสุระ (ที่มาของคำว่าสุรา) เป็นน้ำเมาชนิดหนึ่งเกิดขึ้นพร้อมเทวีวารุณีซึ่งเป็นเทวีแห่งการทำเหล้าสิ่งที่เก้าคือเหล่านางอัปสรซึ่งแปลว่าผู้เกิดจากการเคลื่อนไหวของน้ำลอยขึ้นมาจากเกษียรสมุทร 35 ล้านองค์ทันใดนั้นพลันเกษียรสมุทรเกิดคลื่นน้ำไหลวนปั่นป่วนปรากฏเทพบุตรนามว่า "ธนวันตริ" ทูนคนโทบรรจุน้ำอมฤตลอยขึ้นมาเป็นลำดับสุดท้าย
ด้วยเกรงว่าเหล่ายักษ์จะแย่งชิงน้ำอมฤตไปดื่ม พระนารายณ์จึงแปลงกายเป็นเทวีหน้าตางดงามนามว่า "โมหิณี" หลอกล่อให้ยักษ์ตามพระองค์ไป ฝ่ายอสูรเห็นหญิงงามก็พากันลืมเรื่องน้ำอมฤตแล้ววิ่งตามพระนารายณ์แปลงในทันที เหล่าเทพเห็นสบโอกาสเหมาะจึงแบ่งกันดื่มน้ำอมฤตในทันใดในหมู่ยักษาทั้งหลายที่พากันหลงใหลสะคราญโฉมของพระนารายณ์แปลงยังมียักษ์อยู่ตนหนึ่งนามว่าราหูเป็นยักษ์ที่มีสติปัญญาเฉียบแหลมไม่หลงกลต่อกับดักของเหล่าเทวดา ราหูแจ้งในเพทุบายนี้จึงแปลงกายให้เหมือนเทวดาแล้วไปแฝงอยู่ในหมู่เทพเพื่อดื่มน้ำอมฤต อนิจจาพระอาทิตย์และพระจันทร์เห็นผิดสังเกตเพราะราหูซึ่งถึงแม้แปลงเป็นเทวดาแต่ยังมีเงาทอดลงพื้นจึงเพ่งด้วยทิพยเนตรก็แลเห็นเป็นร่างยักษาแฝงอยู่ เมื่อแจ้งในความจริงเช่นนั้นแล้วพระอาทิตย์และพระจันทร์จึงนำความไปฟ้องพระนารายณ์ ทันใดนั้นพระองค์จึงขว้างจักรสุทรรศนะไปต้องกายราหูขาดเป็นสองท่อน แต่ด้วยฤทธานุภาพแห่งน้ำอมฤตที่ราหูดื่มไปแล้วทำให้ถึงแม้ร่างกายถูกตัดออกเป็นสองส่วนก็ไม่สิ้นชีพราหูเจ็บแค้นที่พระอาทิตย์และพระจันทร์ไปเพ็ดทูลพระนารายณ์จนทำให้กายขาดสองท่อนจึงสาบานที่จะจับพระอาทิตย์และพระจันทร์กินเสียหากโคจรมาเจอกัน ฝ่ายพระจันทร์นั้นโคจรอยู่ในวิมานเบื้องต่ำจึงมักเจอกับราหูอยู่บ่อยๆต่างกับพระอาทิตย์ซึ่งโคจรอยู่สูงจึงไม่ค่อยพบกับราหูนัก ราหูนั้นมีกายเพียงครึ่งเดียวจึงทำให้กลืนพระอาทิตย์และพระจันทร์ได้เพียงชั่วคราวก็หลุดออกมา ด้านกายท่อนล่างของราหูนั้นเรียกว่าพระเกตุ เป็นต้นกำเนิดของดาวหางและอุกกาบาตทั้งปวง
ด้านฝ่ายอสูรหลังจากที่ตามนางโมหิณีและถูกเหล่านางอัปสรมอมสุราพึ่งสร่างจึงพบว่าฝ่ายเทวดาได้ดื่มน้ำอมฤตหมดแล้วก็บังเกิดความโกรธหมายจะเข้าโรมรันแต่เหล่าเทวะได้ดื่มน้ำอมฤตแล้วจึงเป็นอมรไม่มีวันตายอีก ฝ่ายยักษาสู้ไม่ได้ก็พ่ายแพ้กลับไปไม่กล้าเข้ามารุกรานสวรรค์อีกหมู่ยักษ์เมื่อได้พบบทเรียนเช่นนี้แล้วจึงปวารณาตนไม่ดื่มเครื่องดองของเมาอีกจึงเป็นที่มาของคำว่า "อสูร" (อ+สุระ) หมายถึงผู้ไม่ดื่มสุรา ต่างกับเหล่าเทวะที่ยังดื่มสุราดังเช่นคำเรียกที่อยู่ของเทวดาที่ว่า "ฟากฟ้าสุราลัย" (สุระคือเหล้า สนธิกับคำว่าอาลัยแปลว่าที่อยู่) หมายถึงที่อยู่ของผู้ดื่มสุราคือสวรรค์นั้นเองสัจธรรมข้อหนึ่งที่แฝงอยู่ในตำนานนี้ก็คือ "ความเป็นอมตะสามารถบรรลุได้ด้วยการเอาชนะโมหะคือความลุ่มหลงเสียก่อน"

เกียรติมุข

ระยะนี้มีละครอยู่เรื่องหนึ่งที่ติดตามนั่นก็คือเรื่องอมฤตาลัย (อมต คือไม่ตาย สนธิกับอาลัยคือที่อยู่ รวมแล้วหมายถึงสถานที่อันเป็นนิรันดร์ไม่มีวันเสื่อมสลาย) เมื่อได้ยินชื่อ "อมฤตาลัย" บางท่านอาจจะนึกถึงเรื่องราวของน้ำอมฤตซึ่งได้เขียนเล่าตำนานที่มาที่ไปไว้ก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับครั้งนี้จะพามารู้จักกับ "เกียรติมุข" ซึ่งในละครนั้นเป็นหนึ่งในบรรดาลูกสมุนของพระนางพันธุมเทวี แต่ประวัติที่แท้จริงอาจกล่าวได้ว่า เกียรติมุข คือต้นกำเนิดแห่งทวารบาลเลยทีเดียวก็ได้ตามเทวสถานหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆนั้น ณ บริเวณซุ้มทางเข้ามักมีรูปของทวารบาลประดิษฐานขนาบบานประตูอยู่เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีต่างๆไม่ให้กล้ำกรายเข้าไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ สำหรับหน้าบันหรือส่วนของทับหลังด้านบนของซุ้มประตูตามเทวสถานโบราณมักปรากฏรูปสลักสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายสิงห์มีนามต่างๆเรียกกันว่าเกียรติมุข กีรติมุข หรือหน้ากาล เป็นอาทิ
กำเนิดของเกียรติมุขนั้นมาจากคติพราหมณ์ที่ว่าครั้งหนึ่งมีอสูรนามว่าชลันธรซึ่งมีกำเนิดจากพระนลาฏของพระศิวะ ครั้งต่อมาอสูรนั้นได้รับพรให้เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์แต่กลับใช้ฤทธิ์นั้นระรานหมู่เทวดา กาลเวลาล่วงมาจนวันหนึ่งชลันธรดำริเห็นว่าไม่อาจมีใครจะต้านทานฤทธิ์เดชของตนได้แล้วนอกจากพระศิวะ ครั้งตรองได้ดังนั้นแล้วจึงส่งสมุนนามว่าราหูไปเฝ้าพระศิวะเพื่อเจรจาท้ารบโดยหวังเอาพระอุมาเทวีชายาแห่งพระศิวะเป็นเดิมพันพระศิวะมหาเทพสดับดังนั้นก็บังเกิดแรงโทสะเป็นอุกฤษณ์พลันเพลิงแห่งความพิโรธนั้นก็บันดาลให้ดวงตาที่สามเปิดขึ้น อันดวงเนตรที่สามนี้เชื่อกันว่าจะเปิดขึ้นเฉพาะคราที่พระองค์กริ้วอย่างที่สุดเท่านั้น เมื่อดวงเนตรได้เปิดขึ้นดังนี้แล้วจึงปรากฏเป็นอสูรกายรูปร่างน่าครั่นคร้ามมีกายเป็นยักษ์มีเศียรเป็นสิงห์ปรี่ตรงเข้าเขมือบทุกอย่างที่ขวางหน้า
อสูรราหูเห็นดังนั้นพลันในใจบังเกิดความกลัวอย่างหาที่สุดไม่ได้จึงตรงเข้าไปกราบกรานขอให้พระศิวะมหาเทพประทานอภัยแก่ตน ฝ่ายพระศิวะทรงพระเมตตาเห็นว่าราหูเป็นเพียงทูตนำสารจากชลันธรมาแจ้งแก่พระองค์จึงไม่ใช่ผู้ผิด ครั้งตรองได้ดังนั้นแล้วจึงตรัสห้ามไม่ให้อสูรหน้าสิงห์กินราหูด้านอสูรกายทนความหิวไม่ไหวก็กัดกินร่างกายของตนจนเหลือแต่ศีรษะเท่านั้น พระศิวะทอดพระเนตรเห็นดังกล่าวก็เข้าพระทัยถึงโทษอันเกิดจากเพลิงแห่งโทสะว่ามีแต่จะทำร้ายตนเองเหมือนกับกาลเวลาที่ถึงแม้นดำเนินไปเบื้องหน้าแต่เวลาก็กลืนกินตัวเองไปในขณะเดียวกัน ดังนั้นพระองค์จึงมีรับสั่งว่าต่อไปนี้เจ้าจงได้ชื่อว่าเกียรติมุขคือใบหน้าอันมีเกียรติ คอยเฝ้าอยู่ที่ประตูวิมานด้านหน้า แม้นมันผู้ใดไม่เคารพเกียรติมุข มันผู้นั้นย่อมไม่ได้รับพรแห่งศิวะ