วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เกียรติมุข

ระยะนี้มีละครอยู่เรื่องหนึ่งที่ติดตามนั่นก็คือเรื่องอมฤตาลัย (อมต คือไม่ตาย สนธิกับอาลัยคือที่อยู่ รวมแล้วหมายถึงสถานที่อันเป็นนิรันดร์ไม่มีวันเสื่อมสลาย) เมื่อได้ยินชื่อ "อมฤตาลัย" บางท่านอาจจะนึกถึงเรื่องราวของน้ำอมฤตซึ่งได้เขียนเล่าตำนานที่มาที่ไปไว้ก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับครั้งนี้จะพามารู้จักกับ "เกียรติมุข" ซึ่งในละครนั้นเป็นหนึ่งในบรรดาลูกสมุนของพระนางพันธุมเทวี แต่ประวัติที่แท้จริงอาจกล่าวได้ว่า เกียรติมุข คือต้นกำเนิดแห่งทวารบาลเลยทีเดียวก็ได้ตามเทวสถานหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆนั้น ณ บริเวณซุ้มทางเข้ามักมีรูปของทวารบาลประดิษฐานขนาบบานประตูอยู่เพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีต่างๆไม่ให้กล้ำกรายเข้าไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ได้ สำหรับหน้าบันหรือส่วนของทับหลังด้านบนของซุ้มประตูตามเทวสถานโบราณมักปรากฏรูปสลักสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายสิงห์มีนามต่างๆเรียกกันว่าเกียรติมุข กีรติมุข หรือหน้ากาล เป็นอาทิ
กำเนิดของเกียรติมุขนั้นมาจากคติพราหมณ์ที่ว่าครั้งหนึ่งมีอสูรนามว่าชลันธรซึ่งมีกำเนิดจากพระนลาฏของพระศิวะ ครั้งต่อมาอสูรนั้นได้รับพรให้เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์แต่กลับใช้ฤทธิ์นั้นระรานหมู่เทวดา กาลเวลาล่วงมาจนวันหนึ่งชลันธรดำริเห็นว่าไม่อาจมีใครจะต้านทานฤทธิ์เดชของตนได้แล้วนอกจากพระศิวะ ครั้งตรองได้ดังนั้นแล้วจึงส่งสมุนนามว่าราหูไปเฝ้าพระศิวะเพื่อเจรจาท้ารบโดยหวังเอาพระอุมาเทวีชายาแห่งพระศิวะเป็นเดิมพันพระศิวะมหาเทพสดับดังนั้นก็บังเกิดแรงโทสะเป็นอุกฤษณ์พลันเพลิงแห่งความพิโรธนั้นก็บันดาลให้ดวงตาที่สามเปิดขึ้น อันดวงเนตรที่สามนี้เชื่อกันว่าจะเปิดขึ้นเฉพาะคราที่พระองค์กริ้วอย่างที่สุดเท่านั้น เมื่อดวงเนตรได้เปิดขึ้นดังนี้แล้วจึงปรากฏเป็นอสูรกายรูปร่างน่าครั่นคร้ามมีกายเป็นยักษ์มีเศียรเป็นสิงห์ปรี่ตรงเข้าเขมือบทุกอย่างที่ขวางหน้า
อสูรราหูเห็นดังนั้นพลันในใจบังเกิดความกลัวอย่างหาที่สุดไม่ได้จึงตรงเข้าไปกราบกรานขอให้พระศิวะมหาเทพประทานอภัยแก่ตน ฝ่ายพระศิวะทรงพระเมตตาเห็นว่าราหูเป็นเพียงทูตนำสารจากชลันธรมาแจ้งแก่พระองค์จึงไม่ใช่ผู้ผิด ครั้งตรองได้ดังนั้นแล้วจึงตรัสห้ามไม่ให้อสูรหน้าสิงห์กินราหูด้านอสูรกายทนความหิวไม่ไหวก็กัดกินร่างกายของตนจนเหลือแต่ศีรษะเท่านั้น พระศิวะทอดพระเนตรเห็นดังกล่าวก็เข้าพระทัยถึงโทษอันเกิดจากเพลิงแห่งโทสะว่ามีแต่จะทำร้ายตนเองเหมือนกับกาลเวลาที่ถึงแม้นดำเนินไปเบื้องหน้าแต่เวลาก็กลืนกินตัวเองไปในขณะเดียวกัน ดังนั้นพระองค์จึงมีรับสั่งว่าต่อไปนี้เจ้าจงได้ชื่อว่าเกียรติมุขคือใบหน้าอันมีเกียรติ คอยเฝ้าอยู่ที่ประตูวิมานด้านหน้า แม้นมันผู้ใดไม่เคารพเกียรติมุข มันผู้นั้นย่อมไม่ได้รับพรแห่งศิวะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น